Monday, August 14, 2017

MY BUDDHA IS PUNK, CAUTIONARY TALE

MY BUDDHA IS PUNK (2015, Andreas Hartmann, Myanmar/Germany, documentary, A+30)

พอดูสารคดีเรื่องนี้ไล่เลี่ยกับหนังเรื่อง SONGS OF REVOLUTION (2017, Bill Mousoulis, Greece) แล้ว ทำให้เห็นเลยว่า ผู้กำกับแต่ละคน “จับจุดโฟกัส” ได้ตรงใจเรามากๆ คือ SONGS OF REVOLUTION มันเป็นหนังที่พูดถึง “เพลงสะท้อนสังคม” ในกรีซน่ะ เพราะฉะนั้นมันก็เลยเทียบเคียงกับ MY BUDDHA IS PUNK ได้ เพราะ MY BUDDHA IS PUNK เป็นการนำเสนอวงดนตรีวงหนึ่งที่ระบายความคับข้องใจต่อสังคมเมียนมา หรือระบายแนวคิดทางสังคมออกมาทางเนื้อเพลงของพวกเขา ซึ่งวงดนตรีต่างๆในกรีซก็ทำแบบนี้เช่นกันในหนังเรื่อง SONGS OF REVOLUTION เพียงแต่ว่าปัญหาสังคมของกรีซกับเมียนมามันต่างกันมากพอสมควร เพราะในส่วนของเมียนมานั้น มันเป็นปัญหาเรื่องเผด็จการกับความคลั่งศาสนา แต่ในกรีซมันเป็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด

เราว่า Andreas Hartmann จับจุดโฟกัสใน MY BUDDHA IS PUNK ได้ถูกต้อง เพราะหนังนำเสนอบทสนทนาระหว่างนักดนตรีเยอะมาก และนำเสนอ lifestyle ของพวกเขาเยอะมาก แต่ให้เวลาไม่มากเท่าไหร่กับ “เสียงดนตรี” ของพวกเขา และเราว่านั่นแหละ ถูกต้องแล้ว เพราะเราไม่ชอบดนตรีพังค์แบบนี้น่ะ 555 คือเราว่าดนตรีของพวกเขาไม่เข้าทางเรา และเนื้อเพลงของพวกเขาก็ดูไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งมากเท่าไหร่ หนังก็เลยไม่ได้ให้เวลาเราในการฟังดนตรีของพวกเขามากนัก แต่ให้เวลาเราได้ฟังพวกเขาพูดคุยกันแทน และเราว่าพวกเขาพูดคุยกันในเรื่องที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะการโต้เถียงกันในเรื่องศาสนา, ความคิดเรื่องทหาร-ตำรวจ หรือการสอนวงดนตรีรุ่นน้องว่า อย่าไปตั้งชื่อวงว่า “นาซี”

เราชอบมากที่หนังนำเสนอ lifestyle ของวงพังค์วงนี้ด้วย เพราะมันไม่ใช่ lifestyle เท่ๆเก๋ๆ แต่มันคือชีวิตจนๆ กระเสือกกระสน ดิ้นรนกันไป และเป็น lifestyle ที่สะท้อนสภาพบ้านเมืองของเมียนมาได้อย่างดีมากๆเลยด้วย

ในส่วนของ SONGS OF REVOLUTION นั้น หนังไม่ได้ให้เราฟังนักดนตรีคุยกัน และไม่ได้นำเสนอ lifestyles ของนักดนตรีเลย แต่หนังให้เราฟังเพลงและอ่านเนื้อเพลงอย่างเต็มที่ พร้อมกับดูภาพที่เป็นเหมือน fan-made music videos ไปด้วย และเราว่านั่นแหละคือการจับจุดโฟกัสที่ถูกต้องแล้ว เพราะดนตรีใน SONGS OF REVOLUTION มันไพเราะเพราะพริ้งจริงๆน่ะ และเนื้อเพลงมันก็สะท้อนสังคมกรีซได้อย่างน่าสนใจ

เพราะฉะนั้นทั้ง MY BUDDHA IS PUNK กับ SONGS OF REVOLUTION ก็เลยเป็นหนังสองเรื่องที่พูดถึงประเด็นใกล้เคียงกัน แต่จับจุดโฟกัสต่างกันอย่างรุนแรงมาก เพราะ MY BUDDHA IS PUNK ให้ความสำคัญกับชีวิตนักดนตรี แต่ไม่ให้ความสำคัญกับเสียงดนตรี ส่วน SONGS OF REVOLUTION ให้ความสำคัญกับเสียงดนตรี แต่ไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตนักดนตรี แต่หนังทั้งสองเรื่องทำถูกต้องแล้วที่จับจุดโฟกัสแตกต่างกันเช่นนี้ เพราะมันคือการที่ผู้สร้างหนังเข้าใจดีว่าอะไรคือสิ่งที่น่าสนใจอย่างแท้จริงใน subject ของตัวเองน่ะ

CAUTIONARY TALE (2014, Christopher Zawadzki, A+15)

1.ดูแล้วนึกถึงสิ่งที่ตัวเองเพิ่งเขียนถึงหนังสั้นนักศึกษาไปน่ะ ที่บอกว่าในบรรดาหนังสั้นนักศึกษาแบบ narrative นั้น (ไม่รวมประเภท non-narrative) มันอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ระดับล่างสุดคือเล่าเรื่องไม่ได้, ระดับ 2 คือเล่าเรื่องได้, ระดับ 3 คือได้ทั้งเล่าเรื่องและสื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร และระดับ 4 คือได้ทั้งเล่าเรื่อง, สื่ออารมณ์ความรู้สึก และมี magic อะไรบางอย่างในหนัง ที่ทำให้หนังมันทรงพลังมากๆ

คือเราว่า CAUTIONARY TALE อยู่ประมาณระดับ 3 สำหรับเราน่ะ คือมันเล่าเรื่องได้ชัดเจน และสื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ชัดเจน แต่มันยังขาด magic อะไรบางอย่างน่ะ

บางทีมันอาจจะต้องอาศัยผู้กำกับที่มีความเป็นกวี หรือผู้กำกับที่สามารถคิดฉากที่มัน cinematic มากๆออกมาได้ด้วยมั้ง มันถึงจะทำให้หนังออกมาทรงพลังกว่านี้

คือตอนดูจะนึกถึงหนังสั้นของม.กรุงเทพเรื่อง พบ (ALONG TOGETHER) (2009, Wuttipan Deepanya) นะ เพราะหนังเรื่อง “พบ” มันก็เป็นเรื่องผู้ชายที่เอาอัฐิของคนที่ตนรักไปทิ้งในจุดที่ต้องการเหมือนกัน (แต่ใน CAUTIONARY TALE จะเป็นอัฐิของลูกสาว) และหนังทั้งสองเรื่องนี้มันต้องการนำเสนอความรัก, ความเศร้าใจ, การพลัดพราก, การลาจาก, การทำใจเหมือนกัน แต่เราว่า “พบ” มันทำออกมาได้ cinematic กว่าน่ะ หนังมันก็เลยทรงพลังมากๆ

2.นอกจาก CAUTIONARY TALE จะขาด magic แล้ว ตอนที่เราดูหนังเรื่องนี้ เรายังคิดถึงสิ่งที่ตัวเองเพิ่งเขียนถึงหนังเรื่อง JUST THE THREE OF US (2010, Renaud Bertrand) ด้วย ที่เราบอกว่า เราชอบหนังเรื่อง JUST THE THREE OF US อย่างสุดๆ เพราะมันใส่อะไรที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับพล็อตหลักเข้ามาเต็มไปหมด แต่อะไรที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับพล็อตหลักนี่แหละ ที่มันทำให้ตัวละครในหนังดูเป็น “มนุษย์จริงๆ” สำหรับเรา ไม่ใช่ “ตัวละครที่มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อรองรับธีมหนัง หรือรองรับ message ของหนัง” เท่านั้น

เราว่า CAUTIONARY TALE เหมือนเป็นตัวอย่างของหนังแนวที่ไม่เข้าทางเราน่ะ เพราะถึงแม้ว่าตัวละครใน CAUTIONARY TALE จะดูเป็นมนุษย์ และนักแสดงก็เล่นดี แต่มันเหมือนตัวละครในหนังถูกลดทอนความซับซ้อนของชีวิต, อารมณ์, ความรู้สึกออกไป โดยให้เหลือแต่เพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับธีมหนัง หรือ “คติสอนใจ” ที่หนังต้องการจะบอกน่ะ

3.แต่ก็ชอบหนังในระดับ A+15 นะ เราว่ามันก็ทำออกมาได้ดีในระดับนึงน่ะแหละ เราชอบมากๆด้วยที่พระเอกนางเอกดูเหมือนคนธรรมดา, พระเอกมีความน่ารักแบบคนธรรมดา, หนังไม่เร้าอารมณ์มากเกินไป, จบเรื่องได้โอเคประมาณนึง

ฉาก montage ตอนเอาอัฐิไปทิ้งก็ทำออกมาได้ดีมากเลยด้วย เราชอบช่วงนี้มากที่สุดของหนัง


แต่เราว่าหนังขาด magic, ขาดพลังแบบ cinematic และหนังมันให้ความสำคัญกับธีมหนังหรือคติสอนใจของหนังมากเกินไป จนมันทำให้ตัวละครขาดมิติความเป็นมนุษย์ในระดับนึง หรือทำให้จักรวาลในหนังขาดมิติของความเป็นธรรมชาติไป layer นึงน่ะ 

No comments: