Tuesday, September 05, 2017

ARKONG (2016, Anuwat Amnajkasem, documentary, 23min, A+30)

ARKONG (2016, Anuwat Amnajkasem, documentary, 23min, A+30)

1.ชอบการจัดเฟรมภาพหรือการถ่ายภาพในหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ คือเราว่าจริงๆแล้ว “เนื้อหา” ของหนัง หรือ “สิ่งที่ถูกถ่าย” ในหนัง มัน “ธรรมดา” มากๆเลยน่ะ มันเป็นเรื่องการตายของชายชราคนนึง และเราก็แทบไม่ได้รับรู้เรื่องราวอะไรในชีวิตของชายชราคนนี้หรือครอบครัวของเขาเลยด้วย หนังเล่าเรื่องชีวิตของเขาและครอบครัวของเขาน้อยมาก “เนื้อหา” ที่ถือว่า “พิเศษ” หรือ “โดดเด้ง” ในหนังเรื่องนี้มีเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น ที่เป็นการสัมภาษณ์สาวผู้มีญาณทิพย์ ที่พูดถึงอดีตชาติของชายชราคนนี้กับภรรยาของเขา แต่เนื้อหาส่วนอื่นๆของหนัง จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก

อย่างไรก็ดี เราชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ ไม่ใช่เพราะ “สิ่งที่ถูกถ่าย” แต่เป็น “วิธีการถ่าย” ของหนังเรื่องนี้นั่นแหละ เพราะมันสามารถถ่าย “สิ่งธรรมดา” ให้ออกมาทรงพลัง ตรึงตาตรึงใจเราได้ คือเราว่ามันเป็นความสามารถในแนวทางเดียวกับ Marguerite Duras, Chantal Akerman, Rouzbeh Rashidi, Teeranit Siangsanoh, Wachara Kanha และอาจจะเทียบได้กับวิธีการถ่ายสิ่งธรรมดาในหนังของ Chulayarnnon Siriphol เรื่อง SLEEPING BEAUTY (2006) หรือวิธีการถ่าย “สิ่งของในบ้าน” ในหนังของ Chinavorn Nongyao เรื่อง A REAL DREAM (2016) ด้วย

คือเราว่าหลายช็อตในหนังมันโดนเรามากๆน่ะ ทั้งๆที่สิ่งที่เกิดขึ้นในซีนนั้น แทบจะเรียกได้ว่า “ไม่มีอะไรสำคัญเลย”  โดยเฉพาะซีนที่ถ่ายจุดต่างๆในบ้าน (ที่อากงอาจจะเคยนั่ง), ซีนที่ถ่ายถังเผากระดาษหรืออะไรสักอย่าง หรือซีนที่ถ่ายสมาชิกในครอบครัวผลัดกันมาจุดธูปหรือทำอะไรสักอย่างกับรูปอากง คือเราว่าซีนเหล่านี้มันติดตาและมันทรงพลังสำหรับเรามากๆ ทั้งๆที่มันเป็นแค่เก้าอี้, ถังเผาอะไรสักอย่าง และเป็นแค่คนมาจุดธูป คือเราว่ามันเป็นเพราะการวางเฟรมภาพที่เหมาะเหม็ง และเป็นเพราะ gaze ของผู้กำกับ/ตากล้องที่มันตรงกับ wavelength ของเรา และ gaze นี่แหละคือสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้า gaze ของผู้กำกับตรงกับ wavelength ของผู้ชมคนไหน มันก็จะสามารถเนรมิตให้ “สิ่งที่ธรรมดาสามัญที่สุดในโลก” กลายเป็น “ช็อตหรือซีนที่ทรงพลังสุดๆได้”

ลองนึกถึงซีนต่างๆในหนังเรื่อง HOTEL MONTEREY (1975, Chantal Akerman), DOWN THERE (2006, Chantal Akerman), AGATHA AND THE UNLIMITED READINGS (1981, Marguerite Duras), ZOETROPE (2011, Rouzbeh Rashidi) ดูสิ เราเห็นอะไรในซีนเหล่านี้ เราเห็น “ฝาผนัง” เป็นเวลาประมาณ 5 นาที, เห็น “ผ้าม่าน” เป็นเวลาประมาณ 5 นาที เห็น “หน้าต่าง” เห็น “ประตู” แต่ผู้กำกับเหล่านี้สามารถเนรมิตสิ่งที่ธรรมดาสามัญที่สุดในโลก ให้กลายเป็นช็อตหรือซีนที่ทรงพลังที่สุดในทางภาพยนตร์ได้ด้วยความสามารถพิเศษของพวกเขา และเราก็ดีใจมากที่เราเห็นอะไรแบบนี้อีกในหนังเรื่องนี้

2.เราว่าหนังเรื่องนี้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับ SLEEPING BEAUTY (Chulayarnnon) และ A REAL DREAM ได้ด้วยแหละ เพราะ SLEEPING BEAUTY ก็เป็นการจับจ้องมองกิจวัตรธรรมดาสามัญของสมาชิกครอบครัวเหมือนกัน แต่ gaze ของผู้กำกับสามารถเนรมิตกิจวัตรธรรมดาสามัญของสมาชิกครอบครัวให้กลายเป็นซีนที่น่าจดจำมากๆได้

ARKONG สร้างความประทับใจให้เราในแบบที่คล้ายๆกับ A REAL DREAM ด้วย เพราะ ARKONG เน้นถ่ายจุดต่างๆในบ้านที่อากงเคยนั่งอยู่ (ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด) เพื่อสร้างความรู้สึกเศร้าแบบเล็กๆ ในขณะที่ A REAL DREAM ก็เน้นถ่ายจุดต่างๆในบ้านที่แม่ของผู้กำกับเคยนั่ง/ยืน/เดิน/นอน อยู่เหมือนกัน และเราชอบเทคนิคการสร้างความรู้สึกเศร้า/อาลัยอาวรณ์/คิดถึง แบบนี้มากๆ

แต่ ARKONG กับ A REAL DREAM ก็แตกต่างกันอยู่มากนะ เพราะเราดู A REAL DREAM แล้วร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงที่สุดในชีวิตน่ะ เพราะหนังมันถ่ายทอดความผูกพันระหว่างแม่กับผู้กำกับออกมาได้อย่างรุนแรงมากๆ ส่วน ARKONG ไม่ได้สร้างความเศร้าอย่างรุนแรงแบบนั้น ซึ่งมันก็คงสอดคล้องกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้กำกับกับ subject ของหนังน่ะ และเราก็ชอบที่ ARKONG ไม่ได้พยายามดราม่าเกินจริง หรือพยายามเร้าอารมณ์มากเกินไป และปล่อยให้หนังมีแค่ความเศร้าเล็กๆเจืออยู่ คือเราว่าทั้ง ARKONG และ A REAL DREAM ต่างก็ซื่อตรงต่อ subject ที่ตัวเองถ่ายน่ะ คือผู้กำกับ A REAL DREAM คงรู้สึกเศร้ามากต่อเรื่องแม่ของเขา และเขาก็สามารถถ่ายทอดความเศร้าในตัวเขาออกมาได้อย่างเต็มที่ ส่วนผู้กำกับอากงคงจะรู้สึกเศร้าในระดับนึง และก็ถ่ายทอดมันออกมาในแบบที่ไม่ฟูมฟายเกินจริง

3.ถ้าหากจะถามว่ามีจุดไหนที่รู้สึกดร็อปๆบ้างในหนัง เราก็คงตอบว่า ส่วนที่เป็นภาพถ่ายอากงตอนไปเที่ยว มันไม่ทรงพลังเท่ากับส่วนที่เป็นภาพเคลื่อนไหวตอนถ่ายสิ่งต่างๆในบ้านน่ะ

แต่ไม่ใช่ว่าส่วนที่เป็นภาพถ่ายมันไม่ดีนะ คือเราว่ามันก็ดี เพียงแต่ว่ามันไม่ทรงพลังเท่ากับส่วนที่เป็น “ภาพเคลื่อนไหว” น่ะ คือเราว่าส่วนที่เป็นภาพถ่ายมันก็ดูเหมือนเป็นภาพการไปเที่ยวของใครสักคนที่เราไม่รู้จัก คือส่วนนี้แหละที่ “สิ่งที่ถูกถ่าย” มันเป็นสิ่งธรรมดา และพอมันมาปรากฏในหนัง มันก็กลายเป็นสิ่งที่พิเศษขึ้นมาเพียงเล็กน้อย

ในขณะที่ซีนที่ถ่ายเก้าอี้หรือถังเผาอะไรสักอย่าง มันเป็นสิ่งธรรมดา ที่พอมันถูกจับจ้องด้วย gaze ที่ถูกต้องแล้ว มันกลับกลายเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากๆเวลาอยู่ในหนัง

4.สงสัยมากว่า อาม่าเอารูปพระมาวางไว้บนเตียงทำไม :-)


5.ถึงแม้เราจะชอบหนังเรื่องนี้อย่างสุดๆ แต่เราก็ยอมรับนะว่า มันมีหนังเรื่องอื่นๆบางเรื่องที่ใกล้เคียงกันที่เราชอบมากกว่าเรื่องนี้ เพราะถึงแม้เราจะรู้สึกชอบ gaze และการวางเฟรมภาพของหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรงมาก หนังเรื่องนี้ก็ขาดพลังในส่วนของ “เนื้อหา” นี่แหละ เพราะหนังเรื่องนี้แทบไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับอากงและครอบครัวของอากงเลย เพราะฉะนั้นอารมณ์ความรู้สึกที่เราได้รับจากหนังเรื่องนี้ ก็เลยอาจจะไม่รุนแรงมากเท่ากับหนังสารคดีแนว “ครอบครัวของผู้กำกับ” บางเรื่อง ที่มีการเปิดเปลือยชีวิต, ความผิดปกติ, ความขัดแย้ง หรือเรื่องราวดราม่าในครอบครัวของผู้กำกับออกมาด้วย

No comments: